แนวทางการวางแผนการสอน

 การวางแผนการสอนสามารถกระทำได้ 2 แนว คือ การวางแผนระยะยาว และการวางแผนระยะสั้น
         1. การวางแผนระยะยาว หมายถึง การวางแผนการสอนที่ยึดหน่วยการสอนซึ่งครอบคลุมเนื้อหาสาระค่อนข้างกว้าง ต้องใช้เวลาในการสอน เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน เป็นภาคเรียนหรือเป็นปี ด้วยการทำเป็นโครงการสอน ซึ่งเรียกตามหลักสูตรเก่า หรือหลักสูตรใหม่ เรียกว่ากำหนดการสอนนั่นเอง
         2. การวางแผนระยะสั้น หมายถึง การวางแผนการสอนของบทเรียนแต่ละเรื่อง ให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ ผู้สอนที่ดีจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้าในการสอนทุกเรื่อง การวางแผนของผู้สอนอาจทำในรูปแบบต่าง ๆ กัน และอาจเรียกว่าบันทึกการสอนตามหลักสูตรเก่าหรือแผนการสอนแต่ในปัจจุบันสถานศึกษาทุกแห่งก็ยังคงใช้คำว่าแผนการสอน ให้ใช้คำว่าแผนการเรียนรู้หรือแผนการจัดการเรียนรู้แทนซึ่ง สถานศึกษาบางแห่งก็ยังคงใช้คำว่าแผนการสอนอยู่ เพราะสร้างความเข้าใจง่ายเป็นแผนที่ครูเป็นผู้จัดทำออกแบบและใช้ในการจัดการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้

ความหมายของกำหนดการสอน
         การกำหนดการสอนเป็นการเตรียมการสอนล่วงหน้าของผู้สอนในระยะยาว สำหรับวิชาใดวิชาหนึ่ง  โดยกำหนดเนื้อหาสาระที่จะต้องดำเนินการสอนในระยะเวลาต่าง ๆ เช่น การกำหนดการสอนตลอดทั้งปี ตลอดเทอม และตลอดสัปดาห์ ดังนั้นการกำหนดการสอนจึงอาจแบ่งได้ 3 ชนิดคือ
         1. กำหนดการสอนรายปี
         2. กำหนดการสอนรายภาค
         3. กำหนดการสอนรายสัปดาห์
         การกำหนดการสอนต้องคำนึงถึงกำหนดวันปิดและเปิดภาคเรียนวันหยุด วันสำคัญต่าง ๆ การหยุดเรียนในวันที่มีกิจกรรมพิเศษ ตลอดจน การกำหนด วันสอบย่อย สอบปลายเทอม การกำหนดการสอน เปรียบเสมือนการกำหนดตารางเวลา การดำเนินการสอนของผู้สอน การกำหนดเวลาและเนื้อหาสาระที่สัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม โดยกำหนดเรื่องใดตอนใด ต้องสอนก่อนหลัง ใช้เวลาแต่ละเรื่องมากน้อยเท่าใด ซึ่งจะช่วยให้ผู้สอนสอนทันตามกำหนดที่ต้องการ
         การกำหนดการสอนนี้จะทำแบบรายปี รายภาค รายสัปดาห์ ก็สามารถจัดทำร่วมกันได้โดยจะเป็นรูปแบบอย่างไรก็ได้ตามความเหมาะสมและผู้สอนเห็นสมควร

หลักการทำกำหนดการสอน 
         ผู้สอนควรทำแผนการสอนของกรมวิชาการ หรือแผนการสอนแม่บทกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเขียนไว้เพียงย่อ ๆ หรือคร่าว ๆ มาพิจารณาหัวข้อเป็นหัวข้อย่อย บางหน่วยต้องเพิ่มเติมต้องนำไปทำแผนการสอนอย่างละเอียดอีกครั้ง ดังนั้นการทำกำหนดการสอนก็เพื่อให้ผู้สอนกำหนดแนวทางในการสอนตลอดปี หรือตลอดภาคการเรียนว่า จะสอนอย่างไรให้เนื้อหากับเวลาในการสอนสัมพันธ์กัน การทำกำหนดการสอนสามารถทำได้โดย
         1. ผู้สอนที่สอนในระดับเดียวกันมาร่วมกันพิจารณาด้วย
         2. ช่วยกันสำรวจจำนวนคาบที่จะสอนในแต่ละหน่วยว่าเหมาะสมหรือไม่
         3. นำหัวข้อแต่ละหัวข้อย่อยมากำหนด ในการกำหนดการสอนโดยให้สัมพันธ์กับเวลาหรือจำนวนคาบที่ใช้สอนโดยพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
         4.  พิจารณาจำนวนคาบเวลาในแต่ละสัปดาห์ของแต่ละวิชาให้สัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างเวลาเรียนกับเนื้อหาแต่ละหัวข้อ
ตัวอย่างการกำหนดการสอน
การกำหนดการสอนกลุ่มสาระภาษาไทย
ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559
สัปดาห์ที่
วันที่  เดือน  ปี
เรื่อง
จำนวนคาบ
1
19  พ.ค. 59
ปฐมนิเทศ
1
2 - 3
22 – 26 พ.ค. 59
พ่อแม่รังแกฉัน กลอนสุภาพ การอ่านออกเสียงร้อยกรอง การถอดคำประพันธ์
5
3
29 – 30 พ.ค. 59
การเขียนย่อความ
2
3 – 4
31  พ.ค. 59
เครื่องหมายวรรคตอน
2
4
1  มิ.ย. 59
คำอุทาน
1
4 – 6
2 – 7 มิ.ย. 59
พระอภัยมณี กลอนสุนทรภู่
6
6
12 – 14 มิ.ย. 59
การแต่งกลอนสุภาพ
3
7
17 – 20 มิ.ย. 59
คำราชาศัพท์
4
8
21 – 22 มิ.ย. 59
คำนาม
2
8 – 9
23 – 30 มิ.ย. 59
นิทานเทียบสุภาษิต โคลงสี่สุภาพ การเล่านิทาน สำนวน คำพังเพย สุภาษิต
6
9
3 - 7 ก.ค. 59
สอบกลางภาคเรียนที่ 2 / 2559
-
10
12 – 13 ก.ค. 59
การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว
2
11
14 - 17 ก.ค. 59
คำสรรพนาม
2
11 – 12
18 - 19 ก.ค. 59
คำกริยา
2
12 – 13
20 – 28 ก.ค. 59
ข้อคิดเรื่องการบวช การเขียนแสดงความคิดเห็น
4
13
1 – 3 ส.ค. 59
การเขียนจดหมายส่วนตัว
3
14
4 - 7 ส.ค. 59
คำวิเศษณ์
2
14 – 15
8 – 16 ส.ค. 59
ความดีที่ไม่รู้จักสิ้นสุด การเล่าเรื่อง การเขียนย่อความ
6
16
17 – 18 ส.ค. 59
คำบุพบท
2
16 – 17
21 – 24 ส.ค. 59
ตาลโตนด การเขียนคำขวัญ
4
17
25 – 28 ส.ค. 59
คำสันธาน
2
18
29 ส.ค. – 1 ก.ย. 59
บทเสภาสมัคคีเสวก กลอนเสภา
4
19
4 – 5 ก.ย. 59
ทะเลบ้า อุปมาโวหาร การเล่าประสบการณ์
2
19 – 20
11 – 15 ก.ย. 59
สอบปลายภาคเรียนที่ 2 / 2559
-



ประโยชน์ของการกำหนดการสอน
         การทำกำหนดการสอนมีประโยชน์ ดังนี้
         1. ใช้เป็นแนวทางในการทำแผนการสอน เพื่อใช้สอนได้สะดวก ผู้สอนสามารถเข้าใจและมองเห็นงานของตนได้ล่วงหน้าชัดเจน สามารถพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสมอยู่เสมอ เป็นการคิดวางแผนไว้ล่วงหน้า ทำให้การสอนของผู้สอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นไปอย่างได้ผล  
         2. ช่วยให้การสอนเป็นไปตามหลักสูตร เหมาะสมกับผู้เรียน และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และชุมชนอยู่เสมอ 
         3. ทำให้การเปลี่ยนแปลงผู้สอนใหม่ การรับงานของผู้สอนใหม่ การประสานสัมพันธ์ระหว่างผู้ช่วยสอนกับผู้สอน การจัดผู้สอนแทน ฯลฯ เป็นไปด้วยดีไม่กระทบกระเทือนต่อผู้เรียนเกินไป  
         4. ช่วยให้ผู้บริหาร ผู้นิเทศ รู้ลู่ทางที่จะแนะนำ ตลอดจนให้ความร่วมมือสนับสนุนด้วยประการต่าง ๆ
         5. ทำให้การประเมินผลสะดวก เป็นไปตามจุดมุ่งหมายหรือจุดประสงค์ที่กำหนดไว้
ความหมายของแผนการสอน 
         แผนการสอนหรือในปัจจุบันใช้คำว่าแผนการจัดการเรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ซึ่งหมายถึงแนวทางในการสอนที่กระทรวงศึกษาธิการจัดทำขึ้นให้ผู้สอนได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน หรือแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อนำผู้เรียนไปสู่จุดมุ่งหมายของการศึกษา ครูหรือผู้สอนอาจต้องปรับปรุงแผนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการของท้องถิ่นได้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการสอนและการประเมินผล ทั้งนี้โดยความคิดรวบยอด จุดประสงค์การเรียนรู้ หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และจุดมุ่งหมายของหลักสูตร เป็นหลัก ดังนั้นในการทำแผนการสอน หรือในการปรับปรุงการสอนเพื่อให้เกิดการสอนที่ดีผู้สอนจะต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดีในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ด้านความรู้ ด้านเทคนิควิธี ตลอดจนการนำสื่อมาใช้ เป็นต้น

ลักษณะของแผนการสอนที่ดี
         แผนการสอนที่ดีควรมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ 
         1. มีความเหมาะสมสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรสถานศึกษา ตลอดจนปรัชญาของโรงเรียนด้วย  
         2. พิจารณากำหนดจุดประสงค์ให้สอดคล้องเหมาะสมกับโรงเรียนและท้องถิ่น 
         3. มีการจัดเนื้อหาสาระให้เหมาะสมกับเวลา สภาพความต้องการ และความเป็นจริงของท้องถิ่นเพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจ และให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนยิ่งขึ้น  
         4. มีการจัดลำดับหัวข้อรายละเอียดของเนื้อหาแต่ละตอนให้กลมกลืนกัน พร้อมทั้งสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ใหม่และประสบการณ์เก่าให้สอดคล้องสัมพันธ์กันโดยตลอด  
         5. ควรมีการกำหนดกิจกรรมและประสบการณ์ คำนึงถึงวัยผู้เรียน สภาพแวดล้อม กาลเวลา ความสนใจของผู้เรียน รวมทั้งการใช้แหล่งวิทยาการในท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์แก่การเรียนการสอนได้อย่างคุ้มค่า

องค์ประกอบของแผนการสอน
         แผนการสอนโดยทั่วไปมีองค์ประกอบดังนี้   
         1. กลุ่มสาระวิชาและเรื่องที่จะสอน  
         2. หัวเรื่อง  
         3. ความคิดรวบยอดหรือสาระสำคัญ  
         4. จุดประสงค์หรือผลลัพธ์การเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  
         5. เนื้อหาหรือสาระการเรียนรู้  
         6. กิจกรรมการเรียนการสอน  
         7. สื่อการเรียนการสอน  
         8. ประเมินผล  
         9. หมายเหตุ

รูปแบบของแผนการสอน 
         รูปแบบของแผนการสอนสามารถจัดกลุ่มตามลักษณะต่างๆได้ 2 ลักษณะดังนี้  
         1. รูปแบบของแผนการสอนตามลักษณะการเขียน  
         2. รูปแบบของแผนการสอนตามลักษณะของการใช้


ที่มา : พิจิตรา ธงพานิช. วิชาการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 3 นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2560.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคนิคการใช้ผังกราฟิก

รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะกระบวนการ (PROCESS SKILL)

ความหมายของรูปแบบ (MODEL)